ข้อพึงระวังในการเอาประกันภัยสินค้าสำหรับผู้นำเข้า และผู้ส่งออก
ข้อพึงระวังในการเอาประกันภัยสินค้าสำหรับผู้นำเข้า และผู้ส่งออก
การเอาประกันภัยสินค้าเป็นส่วนหนึ่งของการค้าระหว่างประเทศเป็นเวลากว่า 2,000 ปี โดยมีวิวัฒนาการจากรูปแบบหนึ่ง ไปสู่รูปแบบอื่น เช่น จากการเอาประกันภัยร่วมกันเป็นการเอาประกันภัยเป็นเที่ยว จนมาถึงรูปแบบในยุคปัจจุบัน แต่การเอาประกันภัยสินค้าไม่ว่าจะในฐานะผู้ขาย หรือในฐานะผู้ซื้อก็ควรมีความรู้ความเข้าใจในพื้นฐานที่ควรรู้ รวมถึงข้อพึงระวังในการเอาประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยอาจไม่ใส่ใจ หรือไม่รู้มาก่อน ดังต่อไปนี้
1. การเอาประกันภัยสินค้าต้องทำก่อนเริ่มต้นของการเดินทางของสินค้า ไม่สามารถแจ้งหลังจากการเดินทางได้เริ่มต้นแล้ว เพราะบริษัทประกันภัยไม่สามารถให้ความคุ้มครองชนิดย้อนหลัง (back date cove) เว้นแต่บริษัทประกันภัยได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยเปิด (Open Policy) ให้แก่ผู้เอาประกันภัยไว้ก่อนหน้าแล้ว ดังนั้นผู้เอาประกันภัยต้องตระหนักถึงหน้าที่ของตนเองในการทำประกันภัยเสมอไม่ว่าจะถูกกำหนดโดยเงื่อนไขทางการค้า (Incoterms) เช่น ในกรณีขาย CIF หรือ CIP หรือแม้แต่กรณีที่เงื่อนไขทางการค้าไม่ได้กำหนดให้ผู้ขายต้องทำประกันภัย เช่น FOB หรือ CFR แต่ผู้ขายยังมีความเสี่ยงภัยในกรณีสินค้าเกิดเสียหายในช่วงระหว่างการขนส่งจากสถานที่ของผู้ขายก่อนส่งมอบขึ้นเรือที่เมืองท่าต้นทาง เป็นต้น
2. จำนวนเงินเอาประกันภัยที่เพียงพอ โดยทั่วไปต้องไม่ต่ำกว่าจำนวนเงินในใบกำกับราคาสินค้า (Invoice) แต่โดยปกติจะทำประกันภัยกันในวงเงิน 110% ของ Invoice หรือในกรณีของการส่งออก Letter of Credit บางฉบับอาจกำหนดให้ผู้ขายต้องทำประกันภัยในวงเงินเอาประกันภัยที่กำหนดมา เช่น 120%, 125% ของ Invoice หรือมากกว่านั้น เป็นต้น
3. ความคุ้มครองมาตรฐานสำหรับการประกันภัยสินค้า (ทั้งเงื่อนไขมาตรฐานการประกันภัยสินค้า ชุดปี 2009 และชุดปี 1982) ผู้เอาประกันภัยควรเรียนรู้ถึงขอบเขตความคุ้มครองของเงื่อนไขต่างๆ เช่นเงื่อนไข Institute Cargo Clasues (A) หรือ (B) หรือ (C) ที่ใช้สำหรับการขนส่งทางทะเล หรือ Institute Cargo Clauses (Air) (excluding sendings by post) ที่ใช้สำหรับการขนส่งทางอากาศเป็นต้น รวมถึงเงื่อนไขการขยายความคุ้มครองเพื่อให้รวมถึงภัยสงคราม และภัยนัดหยุดงาน ภายใต้เงื่อนไข Institute War Clauses (Cargo) และ Institute Strikes Clauses (Cargo) เป็นต้น
4. ข้อยกเว้นมาตรฐานสำหรับการประกันภัยสินค้า เงื่อนไขการประกันภัยสินค้านั้นมีข้อยกเว้นมาตรฐานซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนดังนี้
4.1 การประพฤติผิดโดยจงใจของผู้เอาประกันภัย (เพื่อให้สินค้าเสียหาย)
4.2 การรั่ว การที่น้ำหนักหรือปริมาณสูญหายไป หรือการสึกหรอตามปกติวิสัยของวัตถุที่เอาประกันภัย เช่น สินค้าบางชนิดคายความชื้น หรือเกิดการระเหยในระหว่างการเดินทาง ส่งผลให้น้ำหนักที่ปลายทางน้อยกว่าน้ำหนักที่ต้นทางแม้ไม่มีการรั่วไหลในระหว่างการขนส่ง
4.3 หีบห่อ รวมถึงการเตรียมการบรรจุที่ไม่เหมาะสมที่กระทำโดยผู้เอาประกันภัยหรือลูกจ้าง ทั้งนี้รวมถึงการบรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้า และการใช้หีบห่อที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว (reused or 2ndhand packing) (เงื่อนไขมาตรฐานการประกันภัยสินค้าชุดปี 2009 ลูกจ้างไม่รวมผู้รับจ้างอิสระ)
4.4 การเสื่อมสภาพ หรือสภาพแห่งวัตถุที่เอาประกันภันเอง เช่นการเน่าเสีย การระอุ เป็นต้น
4.5 ความล่าช้าใดๆ
4.6 การมีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือการไม่สามารถชำระหนี้ของเรือ หรืออากาศยาน (เงื่อนไขมาตรฐานการประกันภัยสินค้าชุดปี 2009 ขณะบรรทุกขึ้นผู้เอาประกันภัยได้รู้/ควรรู้ ข้อยกเว้นนี้ไม่ใช้ ในกรณีสัญญาประกันภัยถูกโอนโดยสุจริต)
4.7 อาวุธ จากปฏิกิริยาของนิวเคลียร์ (เงื่อนไขมาตรฐานการประกันภัยสินค้าชุดปี 2009 เพิ่มหรือสิ่งประดิษฐ์) หรือกัมมันตภาพรังสี
4.8 ความไม่สามารถเดินทะเล (เดินอากาศ) ได้อย่างปลอดภัย หรือความไม่เหมาะสมของยานพาหนะ หรือตู้สินค้าหากผู้เอาประกันภัยรู้ขณะบรรทุกลง (เงื่อนไขมาตรฐานการประกันภัยสินค้าชุดปี 2009 เพิ่มข้อยกเว้นนี้ไม่นำ มาใช้ หากสัญญาได้รับโอน หรือผู้เรียกร้องได้ซื้อ/จะซื้อวัตถุเอาประกัน ภัยโดยสุจริต)
4.9 ภัยสงคราม
4.10 ภัยนัดหยุดงาน
5. สิ่งที่กรมธรรม์ประกันภัยมาตรฐานไม่คุ้มครอง เช่น ภาษีอากร (แต่สามารถจะตกลงเอาประกันภัยเพิ่มได้) ความเสียหายต่อหีบห่อ และฉลากสินค้า (กรมธรรม์ประกันภัยนั้นคุ้มครองเฉพาะความสูญเสีย ความเสียหายต่อสินค้าเท่านั้น แต่สามารถจะตกลงเอาประกันภัยเพิ่มได้) ค่าใช้จ่ายเร่งด่วนในการจัดส่ง เช่นสินค้าที่เสียหายถูกจัดส่งมาทางเรือ บริษัทประกันภัยจะชดใช้ให้ผู้เอาประกันภัยในราคาสินค้าที่ขนส่งมาในวิธีการเดียวกัน (สินค้าขนส่งมาทางเรือ ไม่ชดใช้ค่าขนส่งทางอากาศ) ค่าใช้จ่ายในการกำจัดซากทรัพย์ที่ได้รับความเสียหายไม่ได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัย เป็นต้น
6. การเริ่มต้น และการสิ้นสุดของความคุ้มครองของเงื่อนไขการประกันภัยสินค้า ความคุ้มครองของเงื่อนไขมาตรฐานการประกันภัยสินค้าในตลาดปัจจุบันมี 2 ชุดความคุ้มครองคือ ชุดปี 2009 และชุดปี 1982 ซึ่งในส่วนของการเริ่มต้น และการสิ้นสุดของเงื่อนไขจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อยดังนี้
เงื่อนไขปี 2009
ความคุ้มครองตามเงื่อนไขเริ่มตั้งแต่ สินค้าได้ถูกเคลื่อนย้ายครั้งแรกในคลังสินค้าเพื่อบรรทุกลงหรือขึ้นยานพาหนะในทันทีเพื่อเริ่มต้นการขนส่งต่อเนื่อง ไปตามเส้นทางปกติของการขนส่งและ สิ้นสุด
เมื่อเสร็จสิ้นการขนถ่ายสินค้าออกจากยานพาหนะ ณ สถานที่ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย หรือสถานที่ใดๆ ซึ่งผู้เอาประกันภัยหรือลูกจ้างเลือกที่จะใช้เพื่อการจัดเก็บนอกเส้นทางปกติของการขนส่ง หรือเพื่อการจำแนกแจกจ่าย หรือเมื่อใช้ยานพาหนะหรือตู้สินค้าเพื่อการจัดเก็บนอกเส้นทางปกติ หรือเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 60 วัน* (เรือ) หรือ 30 วัน* (อากาศ) หลังจากเสร็จสิ้นการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือ/ท่าอากาศยานสุดท้าย แล้วแต่ว่ากรณีใดจะเกิดขึ้นก่อน
เงื่อนไขปี 1982
ความคุ้มครองตามเงื่อนไขเริ่มตั้งแต่สินค้าเคลื่อนที่ออกจากสถานที่ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย (ไม่คุ้มครองการยกสินค้าขึ้นรถบรรทุกที่ต้นทาง)ต่อเนื่อง ไปตามเส้นทางปกติของการขนส่งและ สิ้นสุด
เมื่อส่งมอบสินค้าถึงคลังสินค้าที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย หรือสถานที่ใดๆ ซึ่งผู้เอาประกันภัยหรือลูกจ้างเลือกที่จะใช้เพื่อการจัดเก็บนอกเส้นทางปกติของการขนส่ง หรือ เพื่อการจำแนกแจกจ่าย หรือ เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 60 วัน* (เรือ) หรือ 30 วัน* (อากาศ) วันหลังจากเสร็จสิ้นการขนถ่ายสินค้าขึ้นที่ท่าเรือ/ท่าอากาศยานสุดท้าย (ไม่คุ้มครองการยกสินค้าลง ณ สถานที่ปลายทาง) แล้วแต่ว่ากรณีใดจะเกิดขึ้นก่อน
(* ในกรณีระยะเวลา 60 วัน (เรือ) หรือ 30 วัน (อากาศ) หลังจากเสร็จสิ้นการขนถ่ายสินค้าขึ้นที่ท่าเรือ/ท่าอากายานสุดท้ายนั้น ไม่ได้มีความหมายว่ากรมธรรม์ประกันภัยจะยังคงคุ้มครองสินค้าขณะจัดเก็บ ณ สถานที่ใดๆ แต่สินค้าจะต้องดำเนินการขนส่งไปยังจุดหมายปลายทางที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่แรก หากแต่ต้องไม่เกินกว่าจำนวนวันที่กำหนดไว้ดังกล่าว)
7. การประกันภัยสินค้าพิเศษบางประเภท เช่น สินค้าพิเศษหรือ Project cargo หรือสินค้าที่มีมูลค่าสูง บริษัทประกันภัยอาจต้องการข้อมูล หรือรายละเอียดเพิ่มเติมมากเป็นพิเศษ หรือมีข้อกำหนดให้ผู้เอาประกันภัยต้องจัดทำการสำรวจภัยทั้งก่อนและหลังการขนส่งโดยผู้สำรวจภัยที่บริษัทประกันภัยเห็นชอบ สินค้าเทกอง (Bulk Cargo) บริษัทประกันภัยอาจนำความรับผิดส่วนแรกของผู้เอาประกันภัย (Excess) มาใช้
8. สินค้าบางประเภทที่บริษัทประกันภัยหลีกเลี่ยงไม่รับประกันภัย หรือหาผู้รับประกันภัยยาก เช่น เพชร พลอย เครื่องประดับหรือโลหะมีค่า software แบบแปลน หรือพิมพ์เขียว ธนบัตร พันธบัตร หนังสือค้ำประกัน หรือสัตว์มีชีวิต
9. ข้อมูลที่บริษัทประกันภัยนำมาพิจารณาประกอบการรับประกันภัย ผู้เอาประกันภัยควรจัดเตรียมข้อมูลเพื่อให้บริษัทประกันภัยนำมาพิจารณาว่า สินค้าที่ต้องการเอาประกันภัยนั้น สามารถรับประกันภัยได้หรือไม่ หากได้ จะเสนอเงื่อนไขความคุ้มครองอะไร และจะคิดเบี้ยประกันภัยเท่าใด เช่น ตัวสินค้า การหีบห่อและการเตรียมการบรรจุ สินค้าเข้าตู้สินค้าหรือไม่และประเภทใด เมืองท่าต้นทาง-ปลายทาง จุดหมายปลายทางสุดท้ายของสินค้า เรือหรือยานพาหนะที่ใช้ขนส่ง (ในกรณีที่เรือมีอายุมากกว่า 15 ปี บริษัทประกันภัยมีสิทธิคิดเบี้ยประกันภัยเพิ่ม) เงื่อนไขความคุ้มครองที่ต้องการ ประวัติการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ประมาณการขนส่งต่อปี เป็นต้น
10. เอกสารที่บริษัทประกันภัยใช้สำหรับการออกกรมธรรม์ประกันภัย ในเบื้องต้นเช่น ใบกำกับราคาสินค้า (Invoice) ใบตราส่ง หรือเอกสารสัญญาขนส่งในรูปแบบอื่นใด Letter of Credit (ในกรณีการส่งออกที่เงื่อนไขทางการค้ากำหนดให้ผู้ขายต้องจัดประกันภัย) เอกสารกำกับบรรจุภัณฑ์ (Packing List) และเอกสารอื่นที่บริษัทประกันภัยอาจร้องขอมา เป็นต้น
11. กรณีเมื่อเกิดความเสียหายต่อสินค้าที่เอาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยต้องแจ้งบริษัทประกันภัยโดยเร็วเพื่อทำการสำรวจความเสียหายร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตระหนักถึงหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยที่จะต้องปฏิบัติตนเสมือนหนึ่งไม่ได้เอาประกันภัย เช่นสินค้ามาถึงพบว่าเปียกน้ำบางส่วน ผู้เอาประกันภัยต้องทำการคัดแยกสินค้าออกจากกัน ส่วนที่เปียกน้ำหากสามารถทำให้แห้งได้ต้องรีบทำ รวมถึงการหาหีบห่อที่เหมาะสมมาบรรจุ แต่ค่าใช้จ่ายที่สมเหตุผลในการปฏิบัติการดังกล่าวสามารถเรียกร้องจากบริษัทประกันภัยได้ ทั้งนี้รวมถึงทำหนังสือเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ขนส่งเป็นลายลักษณอักษรแล้วส่งมอบต่อบริษัทประกันภัยในการเรียกร้องความสียหาย ทำการร้องขอรายงานสำรวจความเสียหายจากการท่าเรือ หรือการท่าอากาศยาน และหากเป็นไปได้เมื่อพบว่าสินค้าเสียหายขณะเปิดตู้สินค้า ให้ทำการถ่ายรูป หรือ VDO ขณะเปิดตู้จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนอย่างยิ่ง
12. เอกสารที่ใช้ในประกอบการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ในเบื้องต้นต้องมีดังนี้ หนังสือเรียกร้องความเสียหาย กรมธรรม์ประกันภัย ใบกำกับราคาสินค้า เอกสารกำกับบรรจุภัณฑ์ ใบตราส่งหรือเอกสารสัญญาขนส่งในรูปแบบอื่นใด รายงานการสำรวจความเสียหายจากผู้สำรวจภัย หนังสือเรียกร้องความเสียหายต่อผู้ขนส่ง หนังสือที่ผู้ขนส่งตอบโต้มา ใบเสนอราคาค่าซ่อม หนังสือการรับช่วงสิทธิ เป็นต้น
13. อื่นๆ เช่น การเลือกบริษัทประกันภัยที่มีความชำนาญเฉพาะด้านการรับประกันภัยสินค้า และการมีตัวแทนเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัยในต่างประเทศในกรณีการส่งออก รวมทั้งผู้เอาประกันภัยควรทำประกันภัยผ่านที่ปรึกษาประกันภัยที่มีความรู้ความสามารถในการประกันภัยด้านนี้ เพื่อช่วยจัดทำประกันภัยให้เหมาะสมกับสินค้าของผู้เอาประกันภัย เป็นต้น
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการทำประกันภัยสินค้านั้นยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึงอีกหลายประการนอกเหนือจากข้อความที่ได้ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยอันมีผลกระทบต่อความคุ้มครองที่ได้ให้ไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย หรืออัตราเบี้ยประกันภัย เช่น การสิ้นสุดของความคุ้มครองก่อนถึงสถานที่ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย การใช้เรือที่มีอายุเกินกว่า 15 ปี สิ่งที่กรมธรรม์ประกันภัยไม่คุ้มครอง การเลือกบริษัทผู้รับประกันภัย การมีที่ปรึกษาประกันภัย เป็นต้น
หมายเหตุ :
1. โดยทั่วไป การประกันภัยสินค้านั้นบริษัทประกันภัยจะรับประกันภัยเฉพาะสินค้าใหม่ที่ไม่ผ่านการใช้งานมาเท่านั้น เว้นเสียแต่ว่าจะได้มีการแจ้งให้บริษัทประกันภัยรับทราบเพื่อทำความตกลงกับผู้เอาประกันภัย ใน เงื่อนไข ข้อยกเว้น ข้อรับรอง และอัตราเบี้ยประกันภัยเพื่มเติม
2. ปัจจุบันเงื่อนไขมาตรฐานการประกันภัยสินค้าในตลาดมี 2 ชุด คือชุดปี 2009 และชุดปี 1982
3. ผู้เอาประกันภัยควรมีความรู้เรื่องเงื่อนไขทางการค้า (Incoterms) ว่าผู้ขายหรือผู้ซื้อนั้น มีภาระหน้าที่และค่าใช้จ่ายอะไร
4. ผู้เอาประกันภัยควรมีความรู้เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับการขนส่ง เพราะกฎหมาย หรือ พระราชบัญญัติ ที่บังคับใช้กับการขนส่งในรูปแบบนั้นๆ อนุญาตให้ผู้ขนส่งสามารถจำกัดความรับผิดตามที่ระบุไว้โดยไม่ต้องชดใช้เจ้าของสินค้าเต็มจำนวนที่เสียหายนั้น
5. สำหรับผู้ขนส่งในประเทศ (รถบรรทุก หัวลาก เรือลากจูง เรือโปะ/เรือลำเลียง) ผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Frieght Forwarder ทั้งทางอากาศ และทางเรือ) หรือ บริษัท Logistics นั้น ไม่สามารถเอาประกันภัยสินค้าภายใต้กรมธรรม์ประกันสินค้า (แทน หรือในนามของผู้เอาประกันภัย) แต่สามารถอาประกันภัยสำหรับความรับผิดของผู้ขนส่งในนามของตนเองซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการประกันภัย
6. ในกรณีบริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแบบเสียหายสิ้นเชิงแล้ว ซากทรัพย์นั้นจะตกเป็นของบริษัทประกันภัย
ผู้เขียน : อาจารย์วิเทพ จิระจงเจริญ
โดย : โรงเรียนธุรกิจการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ (ITBS)